การบำรุงรักษา

การดูแลรักษาเครื่องอัดอากาศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโรงงานที่ต้องนำอากาศอัดไปใช้เป็นจำนวนมาก การดูแลรักษาระบบอัดอากาศนั้น นอกจากจะทำให้ระบบสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ด้วย การบำรุงรักษาระบบอัดอากาศควรปฏิบัติดังนี้

 

ตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องอัดอากาศ

  • ส่วนการสร้างอากาศอัด ควรตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่อไปนี้ อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน อุปกรณ์ระบายความร้อนหลังการอัด วาล์วนิรภัย วาล์วควบคุม มาตรวัดความดันทุกจุด รวมทั้งตรวจสอบระดับน้ำมันหล่อลื่นและอุณหภูมิของอากาศขาเข้า
  • ส่วนจ่ายอากาศ ให้ตรวจสอบการรั่วของอากาศที่วาล์ว ข้อต่อ และท่อจ่ายต่างๆ ตรวจสอบปริมาณของลมอัดที่จ่ายไป ระบบท่อส่ง และสภาพของฉนวน
  • ส่วนการใช้อากาศอัด ตรวจค่าความดันที่จุดใช้งาน การทำงานของอุปกรณ์ลดระดับความดัน ควบคุมปริมาณการใช้อากาศอัด อุณหภูมิทางด้านออกของอุปกรณ์ระบายความร้อนหลังการอัดสูงเกินปกติหรือไม่ สวิตซ์ควบคุมความดันทำงานเป็นปกติหรือไม่ การตั้งค่าถูกต้องตามกำหนดหรือไม่ เสียงดังผิดปกติหรือไม่ เครื่องกรองอากาศด้านดูดอากาศเข้าอุดตันหรือไม่
  • วาล์วนิรภัย ทำงานเป็นปกติและตั้งค่าถูกต้องตามกำหนดหรือไม่
  • มาตรวัดความดัน ทำงานเป็นปกติหรือไม่

 

ตรวจสอบการควบคุมความดันให้เหมาะสม

  • ความดันต่ำสุด/สูงสุดที่การควบคุมยังมีเสถียรภาพ (Minimum / Maximum Pressure Line) เป็นปกติหรือไม่
  • ความดันที่จะทำให้อุปกรณ์เสียหาย (Proof Pressure) เป็นปกติหรือไม่
  • การตั้งค่าสวิตซ์ความดันของวาล์วนิรภัยและวาล์วกันกลับถูกต้อง 
  • ตรวจสอบการทำงานของวาล์วว่าสามารถป้องกันการไหลกลับของลมได้หรือไม่
  • อุปกรณ์ควบคุมความดันลม (Regulator) ทำงานปกติหรือไม่
  • ตรวจสอบมาตรวัดความดัน (Pressure Gauge) ทำงานปกติหรือไม่

 

ตรวจสอบการระบายลมทิ้ง
ควรระบายลมทิ้งทุกวันตอนเลิกงาน เพื่อป้องกันการกลั่นตัวของน้ำ และตรวจสอบเรื่องต่อไปนี้

  • สามารถระบายลมทิ้งได้เป็นปกติที่วาล์วระบายความดันของถังอากาศ
  • Automatic Drain ทำงานได้ปกติ
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในของตัวดักความชื้นและอุปกรณ์ระบายความดันอัตโนมัติอย่างสม่ำเสมอ

 

ตรวจสอบการระบายน้ำทิ้ง

  • ควรระบายน้ำทิ้งทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าก่อนเริ่มเดินเครื่อง เพื่อป้องกันการสะสมของน้ำและต้องสามารถระบายน้ำทิ้งตามจุดระบายน้ำทุกจุด

 

ตรวจสอบระบบท่ออากาศ
ควรระวังเรื่องอากาศรั่วตามท่อหรือจุดต่างๆ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและทำให้ความดันตก ต้องตรวจสอบจุดต่างๆ ต่อไปนี้

  • การรั่วจากจุดเชื่อมต่อ
  • ข้อต่อเกิดการหลวม
  • การรั่วตามท่อหรือท่อลมต่างๆ
  • การทำงานของวาล์วเปิด-ปิด

 

Visitors: 117,649